Volkswagen Karmann Ghia Type 1 Low-Light Convertible 1959

คาร์มานเกียร์ Type 14 (1955 – 1974)  
         ในตอนต้นของยุค 50 สำนักผลิตรถเปิดประทุนคาร์มานได้เข้ามาเจรจากับโฟล์คเพื่อขอผลิตรถสปอร์ตให้ แต่ผลการประชุมระหว่าง Dr. Wilhelm Karmann ลูกชายบริษัทคาร์มาน กับ DR. Feuereisn รองประธานของโฟล์ค และ Ludwig Boehner หัวหน้าวิจัยและพัฒนาของโฟล์ค กลับไม่ได้ข้อสรุปใดๆ แต่หลังจากนั้นอีก 3 ปี ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1953 โฟล์คแสดงสนใจเมื่อคาร์มานนำเสนอโครงการนี้อีกครั้งพร้อมกับภาพรถสปอร์ต 2 ที่นั่งต้นแบบที่ออกแบบโดยเกียร์ (Ghia) หรือในชื่อเต็ม “Giacinto Ghia’s Design” เริ่มธุรกิจในปี 1948 ที่เมือง Turin ประเทศอิตาลี มีผลงานของ Felice Mario Boano ที่เคยออกแบบรถให้กับ Chrysler เป็นประกัน มี Virgil Exner เป็นหัวหน้านักออกแบบ ภาพสเก็ตแรกของคาร์มานเกียร์นั้นเป็นรถสปอร์ต 2 ที่นั่งที่มีโฉมหน้าคล้ายกับรถ Alfa Romeo ที่คาร์มานได้ออกแบบเสร็จไปแล้ว รถคาร์มานเกียร์ต้นแบบถูกจัดแสดงในงานปารีสออโต้โชว์ในเดือนตุลาคม ปี 1953 ทั้งสองบริษัทตกลงกันว่าคาร์มานจะดูแลการผลิตส่วนโฟล์คนั้นจะเป็นผู้ควบคุมด้านวิศวกรรมและดูแลด้านการจัดจำหน่าย

โฟล์คพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายในการพัฒนาคาร์มานเกียร์โดยใช้พื้นจากรถเต่าที่มีความแข็งแกร่งมาพัฒนาต่อด้วยการขยายความกว้างของพื้นออกไปข้างละ 80 มม. วางประกบด้วยตัวถังที่ออกแบบใหม่หมด คอพวงมาลัยลาดเอียงลงกว่ารถเต่าสไตล์รถสปอร์ตด้ามเกียร์จึงต้องสั้นลงเพื่อให้จับถนัดมือ ความพร้อมในช่วงปี 1954 ที่ใกล้เปิดสายการผลิตนั้นกลับสะดุดลงด้วยเพราะความยุ่งยากในการผลิต ด้วยเพราะคาร์มานเกียร์เป็นรถที่ออกแบบให้ตัวถังมีความสลับซับซ้อน อย่างเฉพาะส่วนหัวนั้นต้องมีเหล็กเชื่อมเข้าด้วยกันถึง 5 ชิ้น นอกจากนั้นตัวถังของคาร์มานเกียร์ยังประกอบไปด้วยเหล็กปั้มขึ้นรูปอีกเป็นจำนวนนับโหล คาร์มานจึงปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่างให้สามารถผลิตรถได้สะดวกขึ้น อาทิ มีช่องลมด้านหน้า 1 คู่ กันชนชิ้นเดียวแทนที่จะเป็นกันชน 2 ชิ้นอย่างที่เคยออกแบบไว้ ย้ายไฟเลี้ยวหน้าไปอยู่ใต้ไฟใหญ่ ย้ายตราโฟล์คจากด้านในมาอยู่ด้านหน้า และแล้วโฟล์คก็เปิดตัวให้สื่อได้ยลโฉมคาร์มานเกียร์ในเดือนกรกฎาคม 1955 มียอดการผลิตในปีนี้ 500 คัน ในปีถัดไปเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 คัน เป็นรถที่ลูกค้าให้การต้อนรับเกินคาด ถือเป็นความสำเร็จของคาร์มาน นอกจากนั้นก็ยังคงผลิตรถเต่าเปิดประทุนขนานไปด้วยกัน แม้ว่าคาร์มานเกียร์จะเป็นรถโฟล์คที่มีราคาแพงถึง 7,500 มาร์ค แต่ลูกค้าระดับบนก็ยังรู้สึกว่าคุ้มค่าเพราะเป็นรถสปอร์ตถึงจะไม่ขนานแท้ก็ตาม นักทดสอบรถกล่าวไว้เมื่อทำการทดสอบในปี 1967 ว่าที่สาเหตุที่ทำให้คาร์มานเกียร์ขายออกก็ด้วยรูปทรงแบบรถสปอร์ตอิตาลีเป็นหลัก รองลงมาก็คือยี่ห้อของโฟล์คที่เชื่อถือได้ในช่วงล่างที่ทนทาน ตัวแทนจำหน่ายแพร่หลายและอะไหล่มากมาย แต่หากมองด้านสมรรถนะแล้วถือว่าธรรมดาเพราะใช้เครื่องยนต์ขนาดมาตรฐานจากโฟล์คมาปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่าง

คาร์มานเกียร์รุ่นหลังคาแข็ง
         ด้วยความสวยรูปของคาร์มานเกียร์จึงทำให้ลูกค้าคาดหวังว่ารถจะต้องขับได้สนุกแบบรถสปอร์ต แต่จ่ายค่าบำรุงรักษาไม่แพงตามแบบฉบับของโฟล์ค ในความเป็นจริงกลับจูบไม่หอม เพราะด้วยเครื่องยนต์ 1200 cc 30 แรงม้า ที่นำมาจากรถเต่าแต่ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์บางอย่างให้มีสมรรถนะให้ดีขึ้น ได้แก่ อากาศนำของรถตู้มาใช้ พัฒนาคาร์บูรุ่นใหม่ ย้ายแบตเตอรรี่มาอยู่ในห้องเครื่อง เป็นต้น หลังจากนั้นโฟล์คก็ได้พัฒนาอุปกรณ์ต่างให้ดีขึ้นในทุกรุ่นปี และแม้ว่าอุปกรณ์ต่างๆ คาร์มานเกียร์จะมีกลไกเหมือนกับรถเต่า แต่ในรายละเอียดแล้วในรถคาร์มานเกียร์นั้นมีความหรูหรากว่าทั้งภายนอกและภายในตามแบบฉบับรถสปอร์ตอิตาลี่ นักทดสอบระบุว่าเครื่องยนต์วิ่งดีกว่ารถเต่า มีสำนักตกแต่งเครื่องยนต์ Okrasa ได้พัฒนาชุดปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องยนต์ขึ้นมาลูกค้าต้องจ่ายเพิ่มอีก 1,000 มาร์ค เพื่อให้รถทำความเร็วสูงสุดได้ 145 กม./ชม. แต่หากขับเกิน 160 กม./ชม. โฟล์คไม่แนะนำเพราะออกแบบช่วงล่างรถให้รองรับความเร็วสูงสุดไม่เกิน 110 กม./ชม. ส่วนภายในยังคงนั่งสบายตามแบบฉบับรถเยอรมัน ด้วยความกว้าง 1,400 มม. ในขณะที่รถเต่ากว้างเพียง 1,215 มม. สามารถเหยียดขาในห้องโดยสารได้มากกว่าเพราะเบาะออกแบบให้อยู่ต่ำแบบรถสปอร์ต หน้าปัดสวยเก๋มีรายละเอียดมากกว่ารถเต่า มีนาฬิกาไฟฟ้าขนาดเท่าเรือนไมล์คอยบอกเวลา ปุ่มสวิตท์ต่างๆ เอื้อมถึงง่ายยกเว้นลิฟท์ไฟที่เท้า เบาะหนังกับวิทยุเป็นอุปกรณ์เสริมต้องจ่ายเพิ่ม เบาะหลังแคบกว่ารถเต่ามากยาวเพียง 106 ซม. ในขณะที่รถเต่ายาว 132 ซม. แถมหลังคาด้านหลังก็ต่ำ จึงเหมาะกับเด็กสองคนหรือเหมาะกับวางสัมภาระหากพับพนักพิงหลังลงมา 

ช่วงล่างของคาร์มานเกียร์ดูเหมือนรถเต่ารถตู้ แต่ที่เหนือกว่าคือใช้เหล็กกันโครงหน้า 12 มม. ส่งผลให้ขับดีกว่ารถเต่าจนนักทดสอบออกปากชม (ในขณะที่รถเต่าเพิ่งจะใส่ในอีก 5 รุ่นปีถัดมา) ทั้งนี้ก็เป็นเพราะ รถถูกออกแบบให้กระจายน้ำหนักมายังด้านหน้ามากขึ้น ตัวรถสูงน้อยกว่ารถเต่า ระบบบังคับเลี้ยวที่พัฒนามาจาก Porches และมุมองศาบังคับเลี้ยวออกแบบใหม่ทำให้รถควบคุมการขับขี่ได้ดี ระบบเบรกก็ออกแบบให้รองรับกำลังของเครื่องยนต์ได้อย่างลงตัว แต่มีจุดอ่อนอยู่ที่ระบบไฟ 6V ทำให้ไฟหน้าไม่สว่างในเวลากลางคืนจนพัฒนามาเป็น 12 V ในเวลาต่อมา และเมื่อเปรียบเทียบกับรถเต่าน้ำหนักตัวคาร์มานเกียร์มากกว่า 80 กก. ใช้เครื่องยนต์ 1200 cc 30 แรงม้าขับเคลื่อนจึงทำความเร็วสูงสุดได้เพียง 120 กม./ชม. ก่อนที่จะพัฒนามาเป็น 34 แรงม้า แต่ก็ทำความเร็วสูงสูดเพิ่มเป็น 125 กม./ชม. จากนั้นจึงเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ 1,285 cc 40 แรงม้ารุ่นปี 66 เครื่องยนต์ 1,493 cc 44 แรงม้า ในรุ่นปี 67 (สนสร้างความสับสนกับรุ่น T34 หน้านกฮูก) และเครื่องยนต์พอร์ทคู่ 1,584 cc 50 แรงม้า ในรุ่นปี 71 เป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวกับ VW 1302 S แต่ที่น่าสนใจก็คือ พัฒนามาใช้เกียร์เซมิออโต้ที่ขับง่ายและปลอดภัยนับว่าคุ้มค่ามากกับการจ่ายเพิ่มเพียง 310 มาร์ค ดีกว่ามาเพิ่มเงินซื้อคาร์มานเกียร์รุ่นเปิดประทุน

คาร์มานเกียร์เปิดประทุน
         หลังจากที่คาร์มานเกียร์หลังคาแข็งประสบความสำเร็จ ทำให้คาร์มานตัดสินใจผลิตรุ่นเปิดประทุนเมื่อเดือนสิงหาคม 1957 ในรุ่นปี 58 รถถูกนำเสนอในงานแสดงรถที่นครแฟรงค์เฟิร์ตและได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและผู้ชมงาน อันที่จริงคาร์มานผลิตรถเปิดประทุนต้นแบบนี้มาตั้งแต่ปี 1954 แล้ว แต่ได้นำมาพัฒนาปรับปรุงตัวถังให้แข็งแรงขึ้น โดยเสริมความแข็งแรงให้กับเสาคู่หน้า ประตู คัสซี และพัฒนาประทุนหลังคาให้เปิดปิดง่ายเพียงหมุนปุ่มเหนือกระจกมองหลัง ก็สามารถปลด 2 ตะขอล๊อคประทุนหลังคาออกจากกระจกบังลมหน้าได้ ก่อนที่จะดึงกลับไปพับเก็บในหลุมท้ายเบาะหลังได้อย่างมิดชิดกว่ารถเต่า สาเหตุที่ออกแบบเช่นนี้ก็เพราะไม่ต้องการให้ประทุนหลังคาที่ถูกพับไปบังลมฝากระโปรงหลังที่มีระบายอากาศนั่นเอง คาร์มานเกียร์เปิดประทุนนี่มีค่าตัวสูงถึง 8,250 มาร์ค ลูกค้าต้องจ่ายอีก 750 มาร์คเมื่อเทียบกับรุ่นหลังคาแข็ง เท่ากับซื้อรถเต่ารุ่นประหยัดได้ถึง 2 คัน ส่วนรถเต่าเปิดประทุนราคาอยู่ที่ 5,990 มาร์ค แต่ก็ยังถูกกว่ารถ Porsche รุ่นต่ำสุดเพราะมีราคาสูงถึง 126,000 มาร์ค ในที่สุดโรงงานที่ Osnabrick ก็ปิดสายการผลิตคาร์มานเกียร์ลงในปี 1973 เพื่อหลีกทางให้กับโฟล์คสปอร์ตตัวใหม่รุ่น Scirocco ที่เริ่มผลิตในปี 1974 นับยอดผลิตคาร์มานเกียร์ได้ 443,466 คัน ประมาณ 1 ใน 4 ถูกจำหน่ายในเยอรมัน

ที่มา: Joachim Kuch. Volkswagen Model Documentation. Robert Bentley Publishers. 1999.

เรื่อง : SIAMVWFESTIVAL

แปลโดย : อาจารย์ สฤษดิ์ ศรีโยธิน

เตรียมเนื้อหาจัดวางโดย : นาย ธนชาติ โอสถหงษ์

เจ้าของรถ : .คุณสุรศักดิ์ อรชุนกะ / 1959 Volkswagen Karmann Ghia Type 1 Low-Light Convertible

ติดตามข่าวสารโฟล์คสวาเก้นได้ที่เว็บไซต์ www.siamvwfestival.com หรือ FB FANPAGE SIAMVWFESTIVAL https://www.facebook.com/siamvwfestival2023

Translate »